คณะองคมนตรี ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566

3 พฤษภาคม 2566

วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ นายจรัลธาดา กรรณสูต พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566

โดยนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมีพลอากาศเอก อิทธิศักดิ์ ศรีสังข์ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Web Conference

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในระดับพื้นที่ บกปภ.ช. ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ของรัฐบาล โดยเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ การสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร การเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการออกปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง รวมถึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ควบคู่กับการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด

ในการนี้ คณะองคมนตรีได้มีข้อห่วงใยและให้กำลังใจทุกหน่วยงานในการที่จะร่วมกันบูรณาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง และดูแลความปลอดภัยและชีวิตของประชาชน ตลอดจนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาจัดการแหล่งน้ำ เพื่อลดพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มากที่สุด รวมถึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมทุกมิติ