การขอมีสัญชาติไทยของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2551

สถานที่ติดต่อ

ทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร  ยื่น  ณ  สำนักบริหารการทะเบียน
ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด  ยื่น  ณ  ที่ว่าการอำเภอ

 

เอกสาร/หลักฐานที่ใช้

1. สูติบัตร ฉบับจริง  1  ฉบับ  สำเนา   2  ฉบับ
หมายเหตุ  (หรือหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.20/1  หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด
2. บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  หรือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ของผู้ขอ) ฉบับจริง  1  ฉบับ  สำเนา  2  ฉบับ         
3.  รูปถ่ายขนาด  3  นิ้ว  จำนวน  3  รูป
4. บัตรประจำตัวหรือเอกสารราชการอื่นที่มีภาพถ่ายของบิดามารดาผู้ขอ สำเนา  2 ฉบับ
5. หลักฐานการพ้นโทษ (กรณีผู้ขอสัญชาติเคยได้รับโทษจำคุก) ฉบับจริง  1 ฉบับ สำเนา  2  ฉบับ
6. หนังสือรับรองผลการศึกษาหรือหลักฐานการเรียน (ยกเว้นอายุต่ำกว่า  7  ปี) ฉบับจริง  1  ฉบับ สำเนา  2  ฉบับ
7. หนังสือรับรองว่าเป็นคนที่ไม่ปรากฎบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์  หรือ  หนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์  (ถ้ามี)  ฉบับจริง  1  ฉบับ สำเนา  2  ฉบับ

ค่าธรรมเนียม

-

ระยะเวลา

180 วัน

หมายเหตุ

การพิจารณาให้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559
การกำหนดสถานะตามกฎหมายตามมติ

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559
ข้อ 1. บุตรของคนที่เข้าอพยพเข้ามาในราชอาณาจักรและอาศัยอยู่เป็เวลานาน ครอบคลุมชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่ง  คณะรัฐมนตรีมีมติไว้เดิมรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร อาทิ กลุ่ม เวียดนาอพยพ อดีตทหารจีนคณะชาติ จีนฮ่ออพยพพลเรือน จีนฮ่ออิสระ ไทยลื้อ ลื้อ   ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เนปาลอพยพ ชาวเขา บุคคลบนพื้นที่สูง ลาวภูเขาอพยพ ม้งถ้ำกระบอก ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า อดีตโจรจีนคอมมิวนีสต์มาลายา ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา ชาวมอร์แกน และคนอพยพเข้ามาในราชอาณาจักรและอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะ และสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
(1) บิดาหรือมารดาที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรและอาศัยอยู่เป็นเวลานานตามข้อ 1 ต้องมีหรือเคยมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนประวัติ หรือเอกสารการทะเบียนราษฎร มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และต้องเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าปี นับถึงวันที่บุตรยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนเพื่อขอมีสัญชาติไทย
(2) มีหลักฐานแสดงว่าเกิดในราชอาณาจักร ได้แก่ สูติบัตร ทะเบียนการเกิด หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด และต้องมีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วแต่กรณี
(3) ไม่ปรากฎหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
(4) พูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นเด็กที่มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี
(5) มีความจงรักภักดีและเลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(6) มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และถ้าเคยรับโทษอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ
ข้อ 2. เด็กและบุคคลที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวอื่นที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อ 1 หรือไม่ปรากฎบิดามารดาหรือบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

(1) มีหลักฐานแสดงว่าเกิดในราชอาณาจักร ได้แก่ สูติบัตร ทะเบียนการเกิด หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด และต้องมีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้วแต่กรณี
(2) ไม่ปรากฎหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
(3) พูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้
(4) มีความจงรักภักดีและเลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(5) มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและถ้าเคยรับโทษอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ
(6) มีหลักฐานแสดงว่าจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักรซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เรียนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าจากสถาบันในต่างประเทศจะต้องเป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐ
(7) สำหรับเด็กและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2 (1)-(5) และอยู่ระหว่างการศึกษาในสถาบันการศึกษาหากมีความจำเป็นต้องขอมีสัญชาติไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน
(8) สำหรับเด็กและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ2 (1)-(5) และเป็นผู้ที่ไม่ปรากฎบิดามารดา หรือบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ถ้าไม่จบการศึกษาตาม (6) ต้องมีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้า จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และต้องมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ ในราชอาณาจักรติดต่อกันไม่น้อยกว่าสิบปีนับถึงวันที่ผู้นั้นยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน เพื่อขอมีสัญชาติไทย
ข้อ 3. ให้ผู้ที่เกิดในราชอณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์ ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
(1)มีหลักฐานแสดงว่าเกิดในราชอาณาจักร ได้แก่ สูติบัตร ทะเบียนการเกิด หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด
(2) มีภูมิลำเนาอยู่ต่อเนื่องในราชอาณาจักร โดยมีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วแต่กรณี
(3) ไม่ปรากฎหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
(4) มีความจงรักภักดีและเลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(5)มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและถ้าเคยรับโทษคดีอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ
(6) ประกอบอาชีพสุจริต และ
(7) เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศโดยมีผลงานหรือความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ และเป็นประโยชน์   ต่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์หรือผลงานในสาขาต่างๆ จากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ระดับกรมหรือเทียบเท่ากรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(ก) การศึกษาหรือการกีฬา
(ข) ศิลปะวัฒนธรรม
(ค) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(ง) สาขาที่ขาดแคลน หรือสาขาอื่น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควร
ข้อ 4. ผู้ใดได้รับสัญชาติไทยแล้ว ภายหลังปรากฎว่าการได้มาซึ่งสัญชาติไทยไม่เป็นไปตามลักษณะหรือเงื่อนไขตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 3 หรือบุคคลดังกล่าวกระทำการใดๆ อันเป็นการ กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐหรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้หน่วยงานรับผิดชอบถอนสัญชาติไทยบุคคลนั้นตามกฎหมาย