หัวข้อกระทู้ : รับมรดกอาวุธปืน
รับมรดกอาวุธปืน
อาวุธปืนขึ้นทะเบียนชื่อคุณพ่อ(เสียชีวิต) ที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ส่วนผมอยู่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ต้องขอรับมรดก ขึ้นทะเบียนอาวุธปืนเป็นชื่อผม ได้ที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี หรือ ขอที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ครับ?
Reply : รับมรดกอาวุธปืน
อาวุธปืนของผู้เสียชีวิตย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่ง ม.๑๕๙๙ ว.๓
ทายาทที่มีสิทธิขอรับมรดกให้ยื่นคำขอรับมรดกต่อนายทะเบียนท้องที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่ง
เป็นท้องที่ที่ตนมีชีวิตอยู่ในทะเบียนบ้านและมีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่ขออนุญาตไม่น้อยกว่าหกเดือน
ตามมาตรา ๑๓ พ.ร.บ.อาวุธปืน หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตราดังกล่าวนายทะเบียนจะดำเนินการ
สอบถามคุณสมบัติความประพฤติและความเหมาะสมตลอดจนความจำเป็นที่ต้องมีและใช้อาวุธปืน โดย
๑) กรณีมีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก หรือมีพินัยกรรมกำหนดผู้จัดการทรัพย์มรดกไว้แล้ว ผู้จัดการมรดก
จะเป็นผู้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกรวมทั้งอาวุธปืนของเจ้าของมรดกว่าจะมอบให้ผู้ใด
๒) กรณีไม่มีคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมตามข้อ ๑ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกจะต้องตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดรับมรดกอาวุธปืน
ทั้งนี้นายทะเบียนท้องที่จะประกาศการขอรับมรดกไว้ในที่ว่าการอำเภอมีกำหนด ๓๐ วัน เพื่อให้ทายาทอื่นคัดค้าน
(ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทำแต่เพื่อป้องกันการร้องเรียนในภายหลัง)
เมื่อผู้จัดการมรดกตามข้อ ๑ กำหนดให้ทายาทคนใดเป็นผู้รับอาวุธปืน หรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตกลงกันให้
ทายาทคนใดรับมรดกอาวุธปืนและอำเภอปิดประกาศครบ ๓๐ วัน ตามข้อ ๒ และนายทะเบียนท้องที่พิจารณาแล้ว
เห็นว่า ผู้ขอรับมรดกมีความเหมาะสมและมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้รับโอนอาวุธปืน (แบบ ป.๓)
ตอนที่ ๓ ให้กับผู้ขออนุญาตส่วนตอนที่ ๒ จะส่งไปยังนายทะเบียนท้องที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี หากมีเหตุจำเป็น
รับมอบตอนที่ ๒ ให้กับผู้ขออนุญาตมอบไปพร้อมกับตอนที่ ๓ ก็ให้หมายเหตุไว้ในใบอนุญาตด้านล่าง เมื่อผู้ขออนุญาตแบบ
ป.๓ ตอนที่ ๓ (หรือพร้อมกับตอนที่ ๒) ไปพบนายทะเบียนอำเภอท่าม่วง เพื่อดำเนินการสลักหลังตัดโอนทะเบียนอาวุธปืน
จากนั้นผู้ขออนุญาตจะนำใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ของเจ้าของปืนเดิมที่นายทะเบียนท้องที่อำเภอท่าม่วง
บันทึกการสลักหลังตัดโอนแล้วพร้อมอาวุธปืนไปพบนายทะเบียนท้องที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบอาวุธปืนและ
ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ให้ต่อไป ทั้งนี้ควรไปติดต่อนายทะเบียนท้องที่อำเภอเมืองเชียงใหม่
ไม่เกิน ๑๕ วันทำการนับแต่วันที่สลักหลังตัดโอน
อนึ่งกรณีมีทายาทไม่ประสงค์จะขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวก็สามารถขายหรือโอนให้กับบุคคลอื่นได้โดยที่
ต้องขอมีแบบใช้อาวุธปืนดังกล่าวก่อน แต่อย่างใดแต่ผู้รับโอนดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา
๑๓ ของ พ.ร.บ.อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่ง
เรื่องไปยังนายทะเบียนที่ขอมีอาวุธปืน อ.เมือง เชียงใหม่ ตามที่ทะเบียนอาวุธปืนของบิดา เพื่อตัดโอนอาวุธปืนดังกล่าวและ
นำมาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ที่ทายาทมีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่ข้างต้น