พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 30 พฤษภาคม

1 มิถุนายน 2566

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 06.30 น. ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 30 พฤษภาคม หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย วางพวงมาลาถวายราชสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมเพรียงกัน

วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์เมื่อพุทธศักราช 2467 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2469) และทรงสละราชสมบัติขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา

พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การฉลองพระนครครบ 150 ปี รัชกาลที่ 7 เสด็จฯเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสะพานพุทธฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ยังทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และศาสนา

พระราชดำริที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การพัฒนาการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยทรงพระกรุณาให้มีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานแก่ชาวไทยทั้งมวล แม้จะยังมิได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. 2475

นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี อีกด้วย

#กรมการปกครอง

#กระทรวงมหาดไทย

#SDGsforAll

#ChangeforGood