การประชุมเชิงปฏิบัติการสานสัมพันธ์ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Workshop on Enhancing Mekong Linkage) ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะที่ 3 (ไทย - กัมพูชา)
17 พฤศจิกายน 2566
โครงการนี้เป็นโครงการที่กรมการปกครองได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดจากกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้การอำนวยการของนางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. ได้มอบหมายให้ สวท. ดำเนินการจัดการประชุมฯ ขึ้นระหว่างวันที่่ 29 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2566 ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย และจังหวัดบันเตียเมียนเจย จังหวัดเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ประเทศกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
วันที่ 29 - 30 ตุลาคม ณ จังหวัดสระแก้ว มีการจัดพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสานสัมพันธ์ภมูิภาคลุ่มน้ําโขง โดย นายวินัย โตเจริญ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธีเปิด และมีการฟังบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และการเสวนาจากผู้แทน สน.มน. สน.สก. และ สน.อส. และการทำกิจกรรม Workshop ภายใต้หัวข้อ “ภารกิจของกรมการปกครองกับการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในพื้นที่ชายแดน”
วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา มีการศึกษาดูงานการข้ามแดนและการขนส่งสินค้าข้ามแดน ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน - สตรึงบท อำเภออรัญประเทศ ซึ่งเป็นด่านชายแดนสำหรับขนส่งสินค้าที่สำคัญที่สุดของจังหวัดสระแก้ว จากนั้น ยังมีการศึกษาดูงานการส่งเสริมการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ ศาลาว่าการจังหวัดบันเตียนเมียนเจย ในการนี้ ท่าน Plex Vary ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย พร้อมด้วย รอง ผวจ. 6 ท่าน และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ได้ให้การต้อนรับคณะอย่างอบอุ่น
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ณ จังหวัดเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ประเทศกัมพูชา มีการจัดพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสานสัมพันธ์ ไทย - กัมพูชา โดยมีร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธีเปิด และมีท่าน Lay Chanrasmey ผู้อำนวยการกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าบ้าน และมีนายวินัย โตเจริญ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง และ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย อุดรมีชัย พระวิหาร พระตะบอง เกาะกง และไพลิน และผู้แทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านเข้าร่วมพิธี นอกจากนี้ ยังมีการทำกิจกรรมเวทีเสวนา และการจัดกิจกรรม Workshop เป็นกลุ่มอำเภอและเมืองคู่ขนาน เพื่อร่วมกันคิดวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ชายแดนไทย - กัมพูชา
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 มีการลงพื้นที่ศึกษาการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกของประเทศกัมพูชา “นครวัด - นครธม” ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นสถานที่ที่ชาวกัมพูชามีความภาคภูมิใจสูงสุด
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 มีการทำกิจกรรม Workshop สรุปการประชุม และชี้แจงการดำเนินงานของโครงการฯ ในห้วงเวลาถัดไปหลังจากจบการประชุมในครั้งนี้
การจัดการประชุมฯ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน (People-to-People Connectivity) และระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำท้องที่ทั้งของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านการเดินทางไปเยือนซึ่งกันและกัน โดยจะมีการจัดตั้ง "กลไกการเฝ้าระวังแบบมีส่วนร่วม” (Non Traditional Security Mekong Watch) ในระยะต่อไป ซึ่งเป็นกลไกที่จะเสริมมาตรการต่างๆ ด้านความมั่นคงของกรมการปกครอง ที่มุ่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน และการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศไทยและกัมพูชา ในพื้นที่ชายแดน จำนวนทั้งสิ้น 87 คน โดยแบ่งเป็น
1. ผู้แทนจากประเทศไทย จำนวน 22 คน ประกอบด้วย นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จากพื้นที่ 11 อำเภอใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด
2. ผู้แทนจากประเทศกัมพูชา จำนวน 34 คน ประกอบด้วย นายอำเภอ รองนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จากพื้นที่ 14 อำเภอ ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบันเตียเมียนเจย อุดรมีชัย พระวิหาร พระตะบอง เกาะกง และไพลิน
3. กลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์ จากไทยและกัมพูชา จำนวน 31 คน
“ความสัมพันธ์ด้านการค้าชายแดนคือ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา”