กรมการปกครอง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาคประชาสังคมในระดับการปกครองท้องที่

27 กุมภาพันธ์ 2567

กรมการปกครอง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาคประชาสังคมในระดับการปกครองท้องที่

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ แกรนด์ จังหวัดพิษณุโลก นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง มอบหมายให้นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดโครงการยกระดับธรรมาภิบาลภาคประชาสังคมในระดับการปกครองท้องที่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รุ่นที่ 3 โดยมี นายนิตย์นิชัย บุญสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องที่ สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กล่าวรายงาน

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ และความตั้งใจในการสร้างความร่วมมือ ในการป้องกันปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการบูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตร่วมกันมาตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2557 – 2560) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยการอบรมในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เป้าหมายที่ 1 ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต ตัวชี้วัดที่ 1.2 สัดส่วนประชาชนที่มีวัฒนธรรมค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อประชาชนทั้งหมด โดยมีเป้าหมายในปี 2567 ร้อยละ 82

กรมการปกครอง ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านทั่วประเทศ ได้พัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม. ร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นกำลังและกลไกสำคัญในการป้องกันการทุจริตและการปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำโครงการยกระดับธรรมาภิบาลภาคประชาสังคมในระดับการปกครองท้องที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นปีที่ 4 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เท่าทันต่อสถานการณ์ สำหรับใช้ในการปลูกฝังวิธีคิด ปลูกจิตสำนึก ให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริตให้แก่คณะกรรมการหมู่บ้าน เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ในฐานะผู้บริหารจัดการท้องที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือคณะกรรมการหมู่บ้าน อำเภอละ 1 คน จาก 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี และอุตรดิตถ์

#กระทรวงมหาดไทย

#กรมการปกครอง