รองอธิบดีกรมการปกครอง นำผู้บริหาร ปค. ร่วมประชุมหารือการป้องกันและปราบปรามการนำห้องชุดในอาคารชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรม
19 มีนาคม 2568
รองอธิบดีกรมการปกครอง นำผู้บริหาร ปค. ร่วมประชุมหารือการป้องกันและปราบปรามการนำห้องชุดในอาคารชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรม
วันที่ 17 มีนาคม 2568 เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายวรณัฏฐ์ หนูรอต ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม "หารือการป้องกันและปราบปรามการนำห้องชุดในอาคารชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรม" สืบเนื่องจากกรณีปรากฏข่าวเกี่ยวกับการนำห้องชุดในอาคารชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนรำคาญและความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้แก่ผู้พักอาศัยในอาคารชุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
การประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเรืองลักษณ์ เรืองยังมี ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ นายอิสรา เจริญชาศรี ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน นายรอมดอน หะยีอาแว ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน เป็นผู้แทนกรมการปกครอง พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงาน กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมอาคารชุดไทย เข้าร่วม
ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำข้อสั่งการรัฐมนตรี !! ในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องโดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยสรุปผลการประชุม ดังนี้
1. การบังคับใช้กฎหมาย : การนำอาคารชุดในห้องชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรมมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ดังนี้ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
2. ปัญหาอุปสรรคการบังคับใช้กฎหมาย : อาคารชุดมีการครอบครองทั้งในลักษณะของกรรมสิทธิ์รวมและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ดังนั้น การเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดในพื้นที่ส่วนบุคคลจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ ด้วยเหตุดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายบางฉบับจึงไม่มีอำนาจเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคลเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดได้โดยทันที เว้นแต่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้น การตรวจสอบการกระทำความผิดในอาคารชุดจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานรวมถึงความร่วมมือจากนิติบุคคลอาคารชุด โดยทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการบริหารของนิติบุคคลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา
3. มาตรการระยะสั้น : ให้หน่วยงานภาครัฐบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน พร้อมสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนำห้องชุดในอาคารชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรม
4. มาตรการระยะยาว : พิจารณาแนวทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าพักอาศัยในอาคารชุดและรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
5. ภาคเอกชน : สมาคมโรงแรมไทยและสมาคมอาคารชุดไทยได้ร่วมให้ข้อสังเกต ปัญหาอุปสรรค รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับฟังข้อมูลดังกล่าวและจะดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาต่อไป
6. การดำเนินการระยะถัดไป : กรมการปกครองจะประชุมหารือร่วมกับ Platform online เพื่อสร้างความเข้าใจถึงข้อกำหนดในการนำห้องชุดในอาคารชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรมและไม่ให้มีการสนับสนุนการกระทำความผิดโดยปล่อยให้มีการประชมสัมพันธ์โรงแรมที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมหรือสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมใน Platform online
ทั้งนี้ ให้กรมการปกครองเป็นผู้รวบรวมข้อมูลการประชุมและจัดทำแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการนำห้องชุดในอาคารชุดมาประกอบธุรกิจโรงแรมเพื่อใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป