“เปิดแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2565”
13 ธันวาคม 2564
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 ธ.ค ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต มีการจัดงาน “เปิดแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2565” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายอัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (UNODC) นายมาร์ค ชไนเดอร์ ผู้แทนหน่วยประสานงานยาเสพติดและอาชญากรรมต่างประเทศประจำประเทศไทย (FANC) หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แม่ทัพภาค 1-4 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้บัญชาการกองกำลังทหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด ในการนี้ นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ร่วมพิธีฯ
นายกรัฐมนตรี ได้ กล่าวมอบนโยบายในตอนหนึ่งว่า ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหายาเสพติดได้ทำลายสังคม ทำลายสถาบันครอบครัว ส่งผลเสียต่อความมั่นคงของชาติ ปัจจุบันประเทศไทยต้องประสบปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติด โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะมีการสกัดกั้นจับกุมได้เป็นจำนวนมาก แต่ยาเสพติดยังหลุดรอดเข้าสู่ประเทศไทย และผ่านไปยังประเทศที่ 3 ขณะเดียวกันการขนส่งยาเสพติดสามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น จัดส่งพัสดุ การซื้อขาย และการชำระเงินยาเสพติดเปิดกว้างมากขึ้น ด้วยการใช้โซเชียลมีเดียทำให้การลักลอบซื้อขาย ยาเสพติดสะดวกรวดเร็วขึ้น สำหรับการผลิตยาเสพติดยังคงมาจากแหล่งพื้นที่เดิม คือ สามเหลี่ยมทองคำ เวลานี้มีการขยายกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้นเพราะผู้ผลิตยาเสพติดมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีกำลังการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นที่มีจำนวนมากไม่จำกัด แต่ต้องขอยืนยันว่าประเทศไทยไม่เคยนิ่งเฉยในการแก้ปัญหา และยังคงเดินหน้าปราบปรามอย่างเข้มข้น มีการพัฒนากฎหมาย ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นวันแรก รัฐบาลปรับปรุงและพัฒนาให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ และปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกับผลการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก
"ผมขอมอบนโยบาย หลังจากที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดบังคับใช้ 1.ขอให้ผู้บริหารส่วนราชการทุกท่านทำความเข้าใจกฎหมายใหม่ฉบับนี้ 2.ขับเคลื่อนสร้างความพร้อม มีแผนขั้นตอนในการทำงาน ติดตามแก้ไขปัญหาในระยะเปลี่ยนผ่านกฎหมาย 3. นำประมวลกฎหมายยาเสพติดไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม มีความชัดเจน และ 4 เจ้าหน้าที่ต้องอดทน เสียสละ ซื่อสัตย์ หากใครทุจริตต้องถูกลงโทษอย่างหนัก"นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เราต้องมีแผนงาน คือ 1. มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข่าวสาร การประสานคดีระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการสืบสวนสอบสวน และเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ 2. มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายโดยใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดมาใช้บังคับ เพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์สินของผู้ค้ายาเสพติด 3. มาตรการในการป้องกันยาเสพติด ต้องป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปสู่การเสพหรือการใช้ยาเสพติด และป้องกันไม่ให้เข้าไปสู่กระบวนการค้ายาเสพติด โดยการเสริมสร้างความเข้มเข็งให้กับหมู่บ้านหรือชุมชน 4. มาตรการบำบัดรักษายาเสพติด บำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ผ่านการบำบัด และ 5. มาตรการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ให้ใช้กลไกของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ในการขับเคลื่อน ท้ายที่สุดนี้การปราบปรามยาเสพติดจะให้ องค์กรใด องค์กรหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบคงจะไม่ได้ เราต้องบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อทำให้สังคมไทย ลูกหลานของพวกเรา ปลอดภัยจากยาเสพติด และวันนี้ เป็นวันแรกที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดประกาศใช้ถือได้ว่ามีเครื่องมือในการปราบปรามมากขึ้น ดังนั้นตนขออวยพรให้การปราบปรามยาเสพติดของพวกเราเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้