มท.1 ลงพื้นที่ขอนแก่น มอบนโยบายผู้ว่าฯ นายอำเภอ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
22 มีนาคม 2565
วันที่ 11 มี.ค. 2565 วลา 09.00 น. ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ผู้บริหาระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังทุกจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ โดยมี ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมรับฟัง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะประเทศของเรายังมีคนที่อ่อนด้อยในสังคม ที่อาจเรียกว่ากลุ่มอ่อนด้อย กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่มิติด้านเศรษฐกิจ แต่หมายความรวมถึงความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง มีเจตนาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นที่มาของการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)
มีเป้าหมายสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” ด้วยเป้าเดียวกันจากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP มีแนวทางการแก้ปัญหา 5 ด้าน หรือ “5 เมนูแก้จน” ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยกลไกตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการฯ ในระดับพื้นที่ (ทีมตำบล) โดยมี “ทีมพี่เลี้ยง” ลงพื้นที่เข้าไปรับทราบปัญหา วิเคราะห์ และหาแนวทางการแก้ไขชั้นต้น ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก รวบรวมและสรุปสภาพปัญหารายงานไปยังทีมตำบล และ ศจพ.อำเภอ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และลงไปแก้ปัญหาความเดือดร้อน พร้อมต้องติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในลักษณะ Intensive care ด้วยการมีส่วนร่วมของครัวเรือนว่าอยากทำอะไร ไม่ใช่เป็นการไปบังคับให้ทำ เมื่อพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายร่วมคิด ร่วมทำ โดยภาครัฐร่วมสนับสนุน แม้ว่าผลอาจจะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ทำให้ครัวเรือนได้ทราบแนวทางและวิธีการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งต้องบันทึกข้อมูลใน Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือและพัฒนา เพื่อจะได้มีข้อมูล (Big Data) ในการวิเคราะห์ภาพรวมสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขในอนาคตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ัรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) บูรณาการทุกภาคส่วนรณรงค์ลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม ทั้งด้านกายภาพและการสร้างจิตสำนึก “ทำให้คนขับรถมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน” โดยกำหนดให้วันที่ 21 ของทุกเดือนมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 2) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ลด Demand Side ร่วมกับทุกภาคส่วนอบรมบ่มนิสัยทำให้ทุกคนไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และ Supply Side ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง 3) บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 โดยรณรงค์ประชาชนปฏิบัติตาม DMHTT อย่างต่อเนื่อง และมาตรการ COVID Free Setting ตามลักษณะสถานที่ และเมื่อมีผู้ติดเชื้อให้เริ่มจากการดูแลตนเองที่บ้าน (HI) ศูนย์พักคอย (CI) และ OPD สำหรับผู้ติดเชื้อโซนซีเขียว หากเป็นผู้ป่วยโซนสีเหลือง-แดง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการสาธารณสุข 4) การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต้องติดตาม วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการ โดยเน้นลดตั้งแต่ที่ต้นเหตุ 5) จัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณเสาไฟฟ้าในเบื้องต้น โดยเริ่มจากบริเวณจุดที่มีสภาพปัญหามากที่สุด 6) การบริหารจัดการภัยแล้ง ด้วยการเตรียมแผนเผชิญเหตุในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง และ 7) การบริหารงานด้วยหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (GG Framework) เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องย้ำเตือนและกวดขันเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกระดับ ทุกกลไก ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลโดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมครัวเรือนตกเกณฑ์รายได้ ตามโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลง “โคก หนอง นา โมเดล” ขนาดพื้นที่ 15 ไร่ (CLM) โดยมี นายอำเภอหนองเรือบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน