กรมการปกครอง ขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมทั่วประเทศ แก้ปัญหายาเสพติด เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย คืนคนดีให้สังคม

13 มีนาคม 2566

ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา การติดตามดูแลปัญหาด้านสุขภาพและการให้การสงเคราะห์อื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดในพื้นที่ ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย จิตใจ และการปรับเปลี่ยนทัศนคติสร้างความเข้าใจในการใช้ชีวิต การฝึกอาชีพ และการประกอบอาชีพ/การทำงาน โดยศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้แก่ผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการคัดกรอง โดยเป็นผู้ใช้/กลุ่มสีเขียว ทั้ง 76 จังหวัด/ 878 อำเภอ จำนวน 100,000 คน

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ได้สั่งการให้ จังหวัด และอำเภอดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยกำชับให้นายอำเภอ และหน่วยงานในพื้นที่ บูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และติดตามความช่วยเหลือผ่านการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ต้องการความช่วยเหลือ ให้มีอาชีพ และสงเคราะห์ด้านอื่น ๆ ตามความจำเป็นเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างพื้นที่ความปลอดภัยในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชนอย่างยั่งยืน และบังเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

จังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับจังหวัดและอำเภอ โดยนำผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการคัดกรองและสมัครใจเข้ารับการอบรมเป็นระยะเวลา 15 วัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางร่างกาย และจิตใจ ให้สามารถเลิกใช้ยาเสพติด เสริมสร้างทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม การแนะแนวการศึกษา/อาชีพ ทักษะ การประกอบอาชีพ โดยมีอาชีพหลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดเรียนรู้ตามความสมัครใจ

พร้อมทั้งมีระบบ ติดตาม ดูแล และช่วยเหลือหลังจากผ่านการอบรมจากการฟื้นฟูทางสังคม โดยให้ชุดปฏิบัติการประจำตำบล (ชปต.) ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือบุคลากรของหน่วยงานอื่น ๆ ทำหน้าที่ในการติดตามตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม ที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว การศึกษา อาชีพหรือการทำงาน และให้การสงเคราะห์อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา ส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างหรือสถานประกอบการรับเข้าทำงาน รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ในการให้การสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อให้ผู้ผ่านการฟื้นฟูจากศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข

#ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม

#คืนคนดีสู่สังคม

#กรมการปกครอง