ประเทศต้องมีรัฐบาล...หมู่บ้านต้องมี กม. กรมการปกครองดำเนินโครงการขยายผลการขับเคลื่อนคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
29 มีนาคม 2566
วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 น. ณ โรงแรมสยามวิลล่า สวีท สุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขยายผลการขับเคลื่อนกลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย นายสรรเสริญ คำทอง ผู้อำนวยการส่วนการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กล่าวรายงานถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยคณะกรรมการหมู่บ้านที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นและหมู่บ้านเริ่มสร้างผลงาน รวมทั้งสิ้น 106 คน แบ่งออกเป็น
1. ผู้แทนหมู่บ้านที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคในการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทางแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 4 หมู่บ้าน ๆ ละ 4 คน รวม 16 คน
2. ผู้แทนหมู่บ้านเริ่มสร้างผลงาน (หมู่บ้าน C) จำนวน 45 หมู่บ้าน ๆ ละ 2 คน รวม 90 คน
โดยมีการอบรมในระหว่างวันที่ 27 - 29 มีนาคม 2566
รองอธิบดีกรมกรมการปกครอง ได้กล่าวถึงความสำคัญของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาคที่มีขนาดเล็กที่สุดที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2551 นอกจากจะกำหนดอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการบริหารงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับราษฎรในหมู่บ้านแล้วยังได้กำหนดให้ คณะกรรมการหมู่บ้านทำหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย คณะกรรมการหมู่บ้านจึงเปรียบเสมือนเป็น “คณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน” ที่บริหารจัดการหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน และครอบคลุมการทำงานในทุกมิติของหมู่บ้าน
ทั้งนี้ กรมการปกครองได้สร้างเวทีแห่งการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน ผ่านการอบรมตามโครงการขยายผลการขับเคลื่อนคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถือได้ว่าเป็นโอกาสดีที่หมู่บ้านที่กำลังเริ่มสร้างผลงานจะได้เรียนรู้ผ่านการถอดบทเรียนจากหมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นเพื่อยกระดับการบริหารการพัฒนาหมู่บ้าน ได้สร้างภาคีเครือข่าย ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน สร้างทีมหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งที่มีแรงปรารถนาที่จะทำประโยชน์ให้ส่วนรวมโดยสิ่งสำคัญคือ ต้องมีใจและมีอุดมการณ์.(Passion) ความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพื่อพัฒนาหมู่บ้านไปสู่ความยั่งยืน
พร้อมกล่าวขอบคุณ วิทยากร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะกรรมการหมู่บ้าน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะได้นำองค์ความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับการบริหารการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่หมู่บ้านและอำนวยอวยพรให้การอบรมครั้งนี้ บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายทุกประการ